บรรยากาศการแข่งขันตลาดทำยอดจองในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2023 รถ EV จีนเฮสั่น ถ้ามัดรวมแบรนด์จีนกวดยอดจองช่วง 11 วันจัดงานไป 20,664 คัน จากยอดจองรวมทุกแบรนด์ 53,248 คัน เท่ากับว่ารถ 5 แบรนด์จากจีน เฉือนเค้กก้อนนี้ไปราวๆ 32% ทำเอารถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่นที่ครองความยิ่งใหญ่ในเมืองไทยมาอย่างยาวนานถึงกับต้องกุมขมับ และต้องแก้เกมปรับทัพสู้ศึกปี 2024 อาจหมายถึงต้องเร่งกระบวนการพัฒนา และผลิตรถ EV เข้าสู่ตลาดเมืองไทยเร็วขึ้นกว่าแผนที่วางกันไว้
ยอดจอง 20,664 คัน นำโดย BYD 5,455 คัน, AION 4,568 คัน, MG 3,568 คัน, CHANGAN 3,549 คัน และ GWM 3,524 คัน โดยในนี้ มี 2 แบรนด์หน้าใหม่คือ AION และ CHANGAN พึ่งเข้ามาตั้งหลักขายยังไม่ถึง 6 เดือน ทั้งโชว์รูม และศูนย์บริการยังพึ่งเริ่มสร้าง หรือบางที่ยังไม่ได้ก่อสร้าง และบางแห่งเป็นแค่แผนดำเนินการ แต่สามารถทำยอดจองรวมกันได้กว่า 15% ของยอดรวม
นายขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานจัดงาน “มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 40” เปิดเผยว่ายอดจองรถในงาน แบ่งเป็นรถยนต์ 53,248 คัน จักรยานยนต์ 7,373 คัน โดยเป็นรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป 61.6% และเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 38.4%
“ประเภทรถที่ได้รับความสนใจสูงสุด รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) 57.3 % รถเก๋ง 18.3 % รถท้ายลาด 10.4 % รถกระบะ 9.5 % และอื่นๆ 4.5 % ขณะที่ราคาเฉลี่ยของรถที่ขายได้ในงานอยู่ที่คันละ 1,323,962 บาท รถจักรยานยนต์เฉลี่ย 198,488 บาท เงินหมุนเวียนในงานราว 7.2 หมื่นล้านบาท ผู้เข้าชมงาน 1,503,030 คน แพคเกจ Motor Expo Exclusive Visitors ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ส่วนยอดดาวน์โหลด Motor Expo Application 46,966 คน และมีผู้ชมงานผ่าน Online Platform 1,091,375 ครั้ง” นายขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ กล่าว
อย่างไรก็ตามผู้นำยอดจองรถสูงสุดในช่วงจัดงานยังคงเป็นแบรนด์จากญี่ปุ่นคือ โตโยต้า 7,245 คัน ตามด้วยฮอนด้า 6,149 คัน ส่วนอีซูซุ ซึ่งมีเพียงปิกอัพ และรถ PPV ทำยอดได้ 2,460 คัน ตามมาด้วยนิสสัน 2,459 คัน, มาสด้า 1,961 คัน และมิตซูบิชิ 1,673 คัน
หากเทียบกับยอดจองในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปเมื่อปี 2022 ยอดรวมอยู่ที่ 42,768 คัน และยอดจองของแบรนด์ญี่ปุ่น คือโตโยต้า 6,064 คัน, ฮอนด้า 3,252 คัน, อีซูซุ 2,648 คัน, นิสสัน 2,478 คัน และมาสด้า 2,295 คัน ยังถือว่ายอดหดตัวไม่มากนัก บางแบรนด์อย่างฮอดน้า กลับเพิ่มขึ้น
พอจะมองเห็นว่า ยอดรวมที่เพิ่มจากปีก่อน กว่า 1 หมื่นคัน เป็นกำลังซื้อใหม่ พุ่งเป้าไปที่รถ EV จากจีนโดยเฉพาะนั่นเอง
ตัวเลขนี้เป็นทั้งการบ่งชี้ สมรภูมิการแข่งขันในตลาดรถยนต์เมืองไทยปี 2024 แบรนด์ญี่ปุ่นต้องเร่งกระบวนการ ผลิตรถพลังงานทางเลือกเข้ามาแข่งขันให้เร็วขึ้น เพื่อสกัดซับพลายของรถยนต์จีนไม่ให้ขยายตัวจนเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวในอนาคต
เพราะเวลานี้แบรนด์รถ EV ของจีนจะทำยอดจองได้สูง แต่เป็นตัวเลขที่ท้าทายในเรื่องการส่งมอบ บริการหลังการขาย เครือข่ายศูนย์บริการ ไปจนถึงจุดชาร์จไฟ ซึ่งต้องใช้เวลาตั้งหลักสักระยะหนึ่ง
ขณะที่ยอดจองรถ EV แบรนด์จีน ที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการใช้รถพลังงานไฟฟ้าของรัฐบาล ตั้งแต่โครงการแรก จนถึงโครงการล่าสุด คือ EV 3.5 ซึ่งกำหนดให้ผู้นำเข้ารถ EV มาจำหน่ายในข่วงแรก ต้องสร้างโรงงานผลิต หรือประกอบรถในประเทศ ในปริมาณคูณ 1.5 ถึง 3.5 คัน ภายใน 2 ปีที่เริ่มจำหน่าย
ดังนั้นในอีก 1 ถึง 2 ปี ข้างหน้า จะมีรถ EV ที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยเฉฑาะจากจีน เข้าสู่ตลาดอีกหลายหมื่นคัน และเมื่อถึงวันนั้น ตลาดรถยนต์ของไทย โดยเฉพาะรถ EV จะร้อนแรงแค่ไหน และอาจจะได้เห็นการแข่งกันขาย และตัดราคากันเอง ก็เป็นได้